ข้อดีของการเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น


อัพเดตข่าวสาร ข้อดีของการเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น
03 มกราคม 2559 Hit: 8404

ปีใหม่ปีนี้อยากเริ่มด้วยอะไรดีๆ

ผมขอมาแบ่งปันข้อดีของการเป็นล่าม ในความคิดเห็นของผมนะครับ

ทั้งๆเรียนเรียนวิศวเคมีที่มหาวิทยาลัยเมจิมาตอนป.ตรี แต่หลังจากเรียนไปได้ 2 ปีกว่า ผมรู้เลยว่า ผมไม่น่าจะเหมาะกับงานแบบนี้ ผมก็เลยตัดสินใจว่าจะไม่เลือกทำงานตามสายที่เรียนมาตอนป.ตรี 
เมื่อผมคิดได้ดังนั้น ผมจึงต้องคิดต่อไปว่า เมื่อเรียนจบกลับไทยแล้วจะไปทำอาชีพอะไรดี 
ตอนนั้นอาชีพที่คิดออกก็มีอยู่หลายอย่าง อย่างเช่น ล่าม สอนภาษาไทย สอนภาษาญี่ปุ่น หรือไม่ก็หาของญี่ปุ่นไปขายในไทย
ถ้าเรียงลำดับความรวยตามที่ผมมองเห็นในตอนนั้นก็คงต้องเรียงจาก อาชีพขายของเก่าญี่ปุ่น ต่อมาก็ล่าม (สมัยนั้นผมเคยได้ยินล่ามสัญญารายปี ค่าแรงวันละ 3,000 บาท ก็ถือว่าเยอะมากแล้ว) รองมาก็ครูสอนภาษาญี่ปุ่น แล้วก็ ครูสอนภาษาไทยให้คนญี่ปุ่น 

ก่อนที่จะตัดสินใจเป็นล่าม ผมเคยคิดว่าไหนๆรู้ภาษาญี่ปุ่นแล้ว อยากสั่งซื้อของเก่า เช่นรถเก่า เครื่องจักรเก่าจากญี่ปุ่นเข้ามาขาย เพราะเห็นร้านค้าต่างๆตามเซียงกง พวกนี้เขาก็ขายแล้วร่ำรวยกัน ผมก็อยากร่ำรวยบ้าง เพราะสมัยนั้น จน จนเบื่อแล้วครับ 

แต่สุดท้ายผมก็ได้พบว่า ก่อนจะมีของเก่าญี่ปุ่นมาขาย ต้องมีเงินซื้อของ ต้องมีหน้าร้านกว้างๆ ซึ่งผมในตอนนั้นไม่มีอะไรซักอย่าง

สุดท้ายผมก็ตัดสินใจเป็นล่าม นับถึงวันนี้ทำงานล่ามมาแล้ว 5 ปีกว่าๆเกือบๆจะ 6 ปีแล้วผมจะมาเล่าย้อนไปถึงข้อดีของการเป็นล่ามให้ฟังกันนะครับ

1) งานล่ามภาษาญีปุ่นไปทำงานตัวเปล่าๆ กับสมอง แต่ได้รับเงินเดือนสูงมาก เท่าที่ผมทราบ แทบทุกคนมีเงินมากพอที่จะหาเลี้ยงตนเอง และส่งให้พ่อแม่ด้วย สำหรับบ้านผมมีพี่น้อง 4 คน คือ พี่สาว ตัวผม น้องชาย 2 คน ตอนนี้ยังเหลือน้องคนเล็กที่ได้ทุนมงไปต่อโทที่ญี่ปุ่นคนเดียว นอกนั้นอีก 3 คน ทำงานเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด และทั้ง 3 คนก็ผ่าน N1 หมดแล้ว งานล่ามนี้ช่วยพลิกฟื้นฐานะของครอบครัวผมได้เลย ดังนั้น ผมเชื่อว่างานล่ามนี้เราสามารถเข้ามาทำได้โดยที่ไม่ต้องใช้เงินทุนมากมายอะไรนัก เพราะว่าที่ต้องใช้ก็คือค่าเรียนภาษาญี่ปุ่น กับความขยันแบบสุดชีวิต และความสนใจในภาษาเท่านั้นเอง แต่งานล่ามนี้เป็นงานที่จะช่วยเลื่อนฐานะของเด็กนักเรียนยากจน ให้ขึ้นมาอยู่ในฐานะชนชั้นกลางได้ หรือบางคนก็ขึ้นไปเป็นคนที่มีรายได้มากอันดับต้นๆของประเทศ (ดูจากยอดจ่ายภาษี) 

2) งานล่ามนั้นทำให้เรามีโอกาสได้พบเจอกับคนเก่งระดับสุดยอดของญี่ปุ่น และไทย สิ่งที่ได้เรียนรู้จากคนเหล่านั้นส่วนมากเป็นหลักการ เทคนิค วิธีการที่ใช้ได้ผลจริง โดยที่เรามีโอกาสได้ฟัง ได้เรียนรู้ แม้เราจะยังอายุน้อย (แต่ต้องฝีมือถึงนะเขาจึงจะยอมให้เราเข้าไปล่าม) โดยไม่ต้องผ่านการสอนงานจากรุ่นพี่ ที่ยังไม่เก่งเท่าไหร่เหมือนงานอื่นๆ คือประมาณว่า ได้ศึกษาจากอาจารย์ปู่โดยตรงกันเลยทีเดียว หลายๆหลักการผมก็นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และยังใช้สอนภรรยาในการทำกิจการส่วนตัวอีกด้วย ในคราวที่เป็นล่ามฟรีแลนซ์ เราอาจจะได้เรียนรู้หลักการกว้างๆ จากคนเก่งๆเหล่านั้น แต่การเป็นล่ามประจำบริษัท เราจะได้เรียนรู้หลักการกว้างๆก่อน แล้วค่อยลงลึกในส่วนที่เป็น เทคนิค และวิธีการด้วย ซึ่งมันลึกซึ้งกว่ากันมาก และสามารถนำไปใช้ได้จริงมากกว่า เพราะความเป็นจริงส่วนมากจะไม่ตรงกับหลักการที่เขียนไว้ในหนังสือ สิ่งที่จะช่วยให้หลักการมาเชื่อมโยงกับความเป็นจริงได้นั้นเรียกว่า "เทคนิค" อันนี้แหละที่ตอนเป็นล่ามฟรีแลนซ์ไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนรู้ มีแต่ล่ามประจำบริษัทเท่านั้นที่มีโอกาสเรียนรู้ 
และความรู้พวกนี้ ส่วนมากจะล้ำสมัยครับ เพราะว่ากันว่า ความรู้ใหม่ล่าสุดจากงานวิจัยในระดับปริญญาเอก ยังต้องใช้เวลาประมาณ 15 ปีกว่าจะออกมาสู่ตลาด แต่ว่าสิ่งที่เราได้เรียนรู้นั้น มันสดๆ บางงานก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย มีเทคโนโลยีบางอย่างที่ผมเคยเห็น ทั้งๆที่ก็เห็นอยู่กับตาตรงหน้า ฟังอธิบายหลักการ และวิธีใช้ แล้วเราก็แปลๆไปด้วย บางทีก็คิดว่า นี่มันของจริงใช่ไหมเนี่ย 

3) เงินเดือนส่วนมากพัฒนาตามความสามารถ ไม่ใช่อายุ เพราะงานล่ามนั้นส่วนมากเงินเดือนสูงแล้ว ดังนั้น แม้อายุจะเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้แปลว่าจะเก่งขึ้น ดังนั้น ล่ามที่พัฒนาความสามารถตนเองได้สำเร็จ ก็จะได้รายได้เพิ่มขึ้นมาก ล่ามที่ไม่สามารถพัฒนาความสามารถตนเองได้ อาจจะรู้สึกว่าเงินเดือนตัน ข้อนี้บางคนอาจจะมองว่าเป็นข้อเสียก็ได้ แต่ส่วนตัวผมมองว่าเป็นข้อดี เพราะเมื่อมาถึงระดับนี้แล้วคนที่ทำงานหนักก็ควรจะได้รับรางวัล คนที่ความสามารถไม่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ไม่ควรได้รับรางวัลแล้ว อย่าติดกับดักความคิดที่ว่า ล่ามประสบการณ์ 16 ปี จะต้องเก่งกว่าล่ามประสบการณ์ 5 ปี ถ้ายังไม่ได้เห็นการทำงานของทั้งสองคน เพราะว่า จากนักเรียนที่พอจะพูดภาษาญี่ปุ่นได้แล้วจะพัฒนาฝีมือจนเป็นล่ามฝีมือดีนั้น ใช้เวลาฝึกฝน 1 ปีก็น่าจะพอแล้ว แต่ถ้าเรายังฝึกฝนตัวเองอยู่เรื่อยๆ เราก็สามารถเป็นล่ามระดับสุดยอดจนชาวญี่ปุ่นชมว่า ไม่เคยเห็นล่ามเก่งขนาดนี้มาก่อน ได้ภายใน 3 ปีครับ

4) ได้ช่วยชาติ ด้วยภาษีที่จ่ายไป ที่จริงคนทุกอาชีพก็จ่ายภาษีทั้งนั้นแหละ แต่ล่ามส่วนมากรายได้สูง ก็เลยต้องจ่ายภาษีมากด้วย ซึ่งภาษีนี้รัฐบาลก็นำไปช่วยคนยากจนทางอ้อมๆ ต่อไป ผมเคยจนผมรู้ดีกว่า โครงการช่วยเหลือคนจนต่างๆของรัฐบาลนั้นมีประโยชน์ต่อพวกเขามาก แต่ถ้าหากล่ามสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี จนบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นสิบๆ ร้อยๆล้านบาท บริษัทก็ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น อันนี้ก็ถือเป็นการช่วยชาติทางอ้อมอีกเหมือนกัน แม้จะต้องเสียภาษีตามกฎหมาย แม้ภาษีจะมากมายขนาดไหน เราก็ไม่เสียดาย เพราะเราภาคภูมิใจ

5) สามารถเป็นสื่อกลางในการเพิ่มฝีมือ และ ทักษะของคนไทยอาชีพอื่นๆได้ด้วย งานซ่อมเครื่องตามปกติที่ต้องใช้ช่างชาวญี่ปุ่น ถ้ามีล่ามอยู่ และล่ามเก่งพอ เราจะสามารถให้ช่างชาวญี่ปุ่นสั่งให้ช่างชาวไทยทำ และสามารถล่ามได้ด้วยว่าที่สั่งนั้นสั่งเพราะอะไร มีหลักการอย่างไร แล้วเวลาทำ ต้องระวังตรงไหนบ้าง ถ้าทำแล้วดีจะเป็นอย่างไง ถ้าทำแล้วไม่ดีจะเป็นอย่างไร เมื่อช่างชาวไทยได้ฟัง เขาจะนำมาเชื่อมโยงกับความรู้เดิมของเขาได้ ช่างชาวไทยก็ได้มีความสามารถซ่อมเครื่องเป็น ทุกครั้งที่ได้เห็นช่างชาวไทยหยิบสมุดขึ้นมาจดสิ่งที่เรากำลังล่ามอยู่ เราจะรู้สึกภาคภูมิใจว่าเราได้ทำหน้าที่ล่ามได้อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว

นี่เป็นข้อดีของงานล่ามที่ผมนึกออก 


สุดท้ายนี้ อยากจะบอกว่า
สิ่งดีๆต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราได้ทำตนเองให้เหมาะสมที่จะได้รับมัน

ต้องมีวินัยในการฝึกฝนฝีมือตนเองอยู่เสมอ ต้องมีจรรยาบรรณในการทำงานล่าม ต้องมีความช่างสังเกต ต้องมีความสนใจใฝ่เรียนรู้

กลับไปหน้ารวมข่าวสาร
http://www.rssdict-ryansunsensei.com/blog_list.php


RyanSun